ขอคิดเตือนใจ สำหรับคนขี่บ่น
ที่น่าแปลกแต่จริงก็คือ ถ้าเราฟังคนอื่นเขาบ่น เราก็เกิดความรำคาญ และแสนน่าเบื่อ น่าเอียน แต่คนที่บ่นมักไม่เบื่อ และที่ร้ายคือ มักจะไม่ยอมรับ หรือรู้ตัวว่าเป็นคนขี้บ่นเสียด้วยซ้ำไป
เล่ากันว่า ในสมัยของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. หลังจากทำวัตรเช้าในพระอุโบสถแล้ว วันหนึ่งท่านตรัสถามพระบวชใหม่ เป็นรายองค์ว่า
"เมื่อคืนจำวัดหลับไหม่ ?"
มีพระบวชใหม่องค์หนึ่ง ได้ทูลตอบว่า
"ไม่ค่อยหลับ ขอรับ"
สมเด็จฯ ได้ตรัสถามต่อไปว่า
"ทำไม จึงจำวัดไม่หลับ ?"
พระบวชใหม่ทูลตอบว่า
"สุนัขมันเห่าหอนทั้งคืน ขอรับ"
สมเด็จฯ ได้ทรงให้ข้อคิดว่า
"เอ้า? ก็ทีหูหมามันอยู่ใกล้ปากหมาแค่นั้น มันยังไม่รำคาญ เธอจำวัดอยู่บนกุฏิ ห่างปากหมาตั้งไกล ทำไมจึงรำคาญ ?"
ทรงแนะอุบายต่อไปว่า
"อย่าใส่ใจกับเสียงหมา ให้กำหนดลมหายใจเข้า ? ออกไว้ที่จมูก มีสติระลึกอยู่เสมอ เสียงหมาจะหายไปเอง?"
วันรุ่งขั้น หลังทำวัตรสวดมนต์แล้ว สมเด็จฯ ได้ตรัสถามภิกษุรูปนั้นอีก ท่านได้ทูลตอบว่า จำวัดหลับสบายดี
การใส่ใจในเสียงหรือคำบ่น ทำให้เกิดความรำคาญ ถ้าเราไม่ใส่ใจก็จะไม่เกิดความรำคาญ นับว่าเป็นข้อคิด ที่ควรแก่การให้ความสนใจยิ่ง
การบ่น เป็นการแสดงออก ของคนที่มีความหงุดหงิดทางใจ เกิดจากความกดดัน การบ่นช่วยให้คลายความเครียดลงได้มาก เมื่อรู้สมุฏฐานของโรคขี้บ่น อย่างนี้แล้ว ก็ควรที่จะให้ความเมตตาแก่คนขี้บ่น มากกว่าที่จะไปรำคาญ หรือถึงกับโกรธตอบคนขี้บ่นมิใช่หรือ ?
แต่ถ้ามีทางทำได้ โดยสันติวิธี ก็ควรที่จะช่วยให้เขาเลิกบ่นซะ เพราะมีการเสียบุคลิกภาพ ที่นับว่าร้ายแรงยิ่ง เพราะการบ่นก็คือ การพูดคนเดียวนั่นเอง คนที่เขาไม่คุ้นเคยได้ยินเข้า เขาก็อาจจะเข้าใจว่า ถ้าจะเป็นคนอย่างว่า คือเป็นหนึ่งในห้าร้อยจำพวก ไปแล้วก็ได้ !
ว่าที่จริง ต้นเหตุที่จะให้เกิดความหงุดหงิดนั้น แท้จริงเกิดจากความปรารถนาดี อยากให้คนอื่นอยู่ในวินัย เรียบร้อย ขยัน ช่วยการงาน หรือทำอะไรให้ถูกใจเขา เป็นต้น
เมื่อรู้ต้นเหตุจริง ๆ อย่างนี้แล้ว เราก็น่าจะเพิ่มความรักคนขี้บ่นขึ้นอีกเป็นกอง จริงไหม ? ถ้าคนเขาไม่รักกันจริง เขาจะบ่นทำไมให้เมื่อยปาก เสียน้ำลายด้วย ด่าส่งไปเลยมิดีกว่าหรือ ?
ทางแก้
๑. สำรวจดูตัวเราเองสิว่า มีอะไรที่ทำให้เขาต้องบ่นบ้าง อย่าเข้าข้างตัว ถ้าเห็นว่ามันถูกของเขา ก็ควรที่จะขอบคุณเขา และแก้ไขเสีย คำบ่นก็จะหายไปเอง
๒. ถ้าสำรวจแล้ว ไม่เห็นความบกพร่องของเรา ก็ควรชี้แจงให้เขาฟัง ถึงความเข้าใจผิด ถ้าเขาไม่ยอมรับก็อย่าไปเอาใจใส่อีกต่อไป
๓. ควรนึกเมตตา และ สงสารเขา ที่ไม่ได้จ้างวานอะไรเลยก็ยังอุตส่าห์ยอมเสียบุคลิก เป็นคนขี้บ่นได้
๔. ถ้าคนบ่นเป็นผู้มีพระคุณ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ก็ไม่ควรจะโต้ตอบเด็ดขาด
๕. ควรฝึกสติ และสมาธิไว้ ถ้าเผลอใจอาจรำคาญถึงด่าว่าหรือโต้ตอบที่ร้ายแรงได้
๖. คำบ่นจะมีค่า ถ้าเราถือเป็นบท ?ทดสอบธรรมะ? ถ้าเราเฉยได้ ทั้งภายนอกและภายใน ก็ถือว่า ?สอบผ่าน? ถ้าหงุดหงิดรำคาญ หรือโต้ตอบ ก็ถือว่า ?สอบตก?
๗. อารมณ์ทุกสิ่ง ที่มากระทบตัวเรา ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ถ้าจัดการอย่างถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นการ ?สร้างบารมี? ทำนอง ?มารไม่มี บารมีไม่แก่กล้า?