การเลือกดอกลำโพงทดแทนของติดรถ สำหรับ Front เดิม
ต่อเนื่องจากกระทู้ พูลทรัพย์ และ การแดมป์ประตู + ตัวถัง ผมคิดว่ายังมีอีกเรื่องนึงที่ขาดหายไป สำหรับการเล่นระบบเสียงในห้องโดยสารของรถเรา นั่นคือการเลือกซื้อดอกลำโพง ซึ่งผมจะเน้นการเลือกลำโพงที่เหมาะสมสำหรับติดแทนที่ของเดิมและใช้กับวิทยุติดรถเดิม
เริ่มต้นจากความจริงที่ว่า วิทยุติดรถเรา แม้จะมีกำลังแรงพอสมควร แต่ก็ไม่แรงเท่าแอมป์แยกกำลังสูง แต่ที่แอมป์ในตัววิทยุติดรถของเรามีให้ก็คือ คุณภาพของเสียง ที่พูดแบบนี้เพราะว่า ความแรงของแอมป์อย่างเดียวในแอมป์แยกบางตัว มีแต่ความดัง แต่ไม่มีคุณภาพ เปิดดังจริงแต่หนวกหู หรือรู้สึกรำคาญ
ดังนั้นการเลือกดอกลำโพงให้เหมาะสมเรื่องแรกก็คือ เรื่องของความไวเสียง หรือที่เขียนบอกข้างกล่องเป็นdb
หลายคนซื้อลำโพงโดยไม่คำนึงถึงสเป็คตรงนี้ และหากเอาลำโพงกินวัตต์หรือความไวต่ำมาใช้กับวิทยุติดรถ ก็จะเกิดอาการ ขับไม่ไหว ไม่ดังเพียงพอ ซึ่งผมอยากให้ดูความไวอย่างน้อย89 db ขึ้นไป แต่ที่เหมาะสมควรเกิน 90 db/w/m ครับ : ซึ่งต้องดูให้ดีอีกครับว่าเป็นความดังต่อ เมตร หรือ ครึ่งเมตร เพราะความหัวหมอของผู้ผลิตเอง ที่คล้ายๆ กับแม่ค้าบ้านเรา บอกราคาตัวโตๆ แต่เขียนตัวเล็กๆ ว่าต่อครึ่งกิโลอะไรประมาณนั้น
db หรือความไว สำคัญยังไง ?
ระดับความดัง3 db เทียบเท่ากับกำลัง watt ของเครื่องขยาย 10 เท่า เช่น แอมป์ 10 วัตต์เล่นกับลำโพง 87 db จะมีเสียงดังเท่ากับ แอมป์ 1 watt ที่ต่อกับลำโพง 90 db คือแม้เราจะมีแอมปืแค่ 1 watt แต่เราสามารถเล่นได้ดังเท่ากับแอมป์ 10 วัตต์ หากเราใช้ลำโพงที่มีความไวกว่า 3 db และถ้าคุณใช้ลำโพงความไวซัก 92 db ในรถคุณ พวก 1000 วัตต์ทั้งหลายที่ ลงลำโพงช้าๆ ระดับ 84-85 db คงต้องสะอื้นกันบ้าง
ดังนั้นลำโพงที่ติดรถผมตอนนี้มีความไวถึง90 db ซึ่งเพียงพอที่จะต่อกรกับ คนที่ใช้แอมป์ 100 watt แต่ใช้ลำโพงแค่ 85-86 db อย่างสบายๆ ซึ่งเป็นความไวของลำโพงที่มีขายอยู่มากมายในตลาด โดยเฉพาะพวกกรวยหนาๆ หนักๆ ใช้ลวดทองแดงไม่ดี แม่เหล็กกำลังไม่สูงพอ ฯลฯ
ลำโพงที่มีความไวสูงได้เปรียบเรื่องความละเอียดของเสียง เพราะเพียงการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณดนตรีเพียงเล็กน้อย ลำโพงก็ขยับตัวทำงานแล้ว ส่วนพวกที่เฉื่อยๆ ก็มักจะไม่ตอบสนองกับสัญญาณเบาๆ ทำให้ฟังเพลง อคูสติก หรือเพลงหวานๆ ไม่เข้าหู
ไหนๆ ก็พาดพิงเรื่องกรวยแล้ว พูดต่อเลย กรวยลำโพงเป็นสิ่งหลักที่ดูดกำลังขับ และคุณภาพของเสียง กรวยลำโพงที่ดีต้องแข็งแรงระดับนึง และต้องเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกกรวยโลหะ หลีกหนีให้ใกล เพราะมันมีน้ำหนักมาก และมีปัญหาเรื่องความถี่สั่นค้างในกรวย ซึ่งพวกเคฟล่าจะได้เปรียบที่สุดตรงนี้ เพราะเบาและแข็งแรง แถมแดมป์ตัวเองได้อีก รองลงมาคือพวกกระดาษและพลาสติกโพลี ซึ่งมีลักษณะของเสียงแตกต่างกัน กระดาษจะออกหวานๆ แต่อัดหนักๆ ไม่ดี ส่วนพลาสติกโพลี่ ออกคมๆ นิดส์นึง แต่อัดหนักได้สบายๆ และทนต่อสภาพการใช้งานในรถยนต์ได้ดี โดยส่วนตัว ผมเลือกพลาสติกโพลีครับ
เมื่อกรวยเลือกได้แล้ว ก็มาเลือกขอบกรวย ซึ่งของถูกๆ จะเป็นกระดาษอัดกลีบ ดีขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นผ้าอัดยาง และดีขึ้นมาอีกก็โฟมยาง และดีที่สุดก็คือยาง ซิลิโคนที่นิ่มๆ บางๆ เบาๆ ทนทานที่สุด ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบัน มักอยู่ในลำโพงราคาแพง แต่ของถูกๆ ก็พอหาได้ถ้าเลือกกันดีๆ ส่วนใหญ่ตอนนี้ เป็นโพลีโฟมกันหมดครับ จะกินวัตต์หน่อย แต่ก็พอรับได้ครับ ส่วนตัวผม เลือกขอบกรวยยางซิลิโคนมาจนได้ครับ
ของที่ทำงานร่วมกับขอบกรวยคือ spider หรือ สไปเด่อร์ หรือเรียกว่าอะไรไม่รู้ที่เป็นวงๆ ก้นหอยที่ยึดกรวยด้านใน spider ต้องนิ่มนวล อ่อนตัวได้มาก คือให้กรวยลำโพงขยับตัวได้อย่างสะดวก วิธีทดสอบก็คือการเอานิ้วจิ้มตรงกลางกรวยลำโพงแล้วกดเบาๆ ให้พอรับรู้ถึงแรงต้านตรงนี้ อย่าลืมว่าขอบกรวยก็มีส่วนในแรงต้านนี้เหมือนกัน อีกอย่างหน้าที่หลักที่ spider ทำก็คือ การป้องกันการสบัดของวอยส์คอยที่อยู่ในแม่เหล็ก ทั้งนี้ถ้าทุกอย่างน้ำหนักเบา spider ก็ไม่จำเป็นต้องแข็งมาก จนกลายเป็นลำโพงกินวัตต์ และเฉื่อยต่อการตอบสนอง การตรวจสอบตรงนี้ คงต้องใช้ประสพการณ์นิดส์นึงนะครับ
ต่อไปก็เรื่องขนาดของแม่เหล็ก ซึ่งเข้าใจผิดกันมามากว่าต้องใหญ่ๆ เข้าไว้ จริงๆ แล้วแม่เหล็กใหญ่เล็กไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงกำลังแม่เหล็ก แต่คุณภาพความแรงของแม่เหล็กเองต่างหากที่สำคัญ ตรงนี้คงเลือกด้วยตาเปล่าไม่ได้ แต่สิ่งที่พอทำได้คือเลือกแม่เหล็กที่ยาวๆ หน่อยครับ
อีกเรื่องนึงที่ตรวจสอบไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากคือ ระยะชัก ของลำโพงเอง ลำโพงที่ดีควรมีระยะชักมากๆ เพราะเวลาเปิดอัดดังๆ จะมีความเพี้ยนน้อยกว่าพวกระยะชักน้อย เมื่อเทียบกับลำโพงขนาดเดียวกัน ดอกลำโพงที่ระยะชักมากๆ ดูได้จากตูดแม่เหล็กยาวๆ พวกซับบางดอกทำเป็นสองชั้นกันเลย และที่สังเกตุได้อีกจุดก็คือ ขอบกรวยที่กว้างๆ ลึกๆ และspider ที่วงใหญ่ๆ พับกลีบมาลึกๆ
สุดท้ายก็โครงสร้างเหล็กของตัวมัน ลำโพงดอกเล็กๆ ขนาด 6 นิ้ว แม้จะกำลังน้อย น้ำหนักน้อย แต่ในจังหวะการทำงานไวๆ โครงสร้างของมันก็ต้องนิ่งให้ได้ ห้ามกระพือ เพราะการกระพือหมายถึงการสูญเสียพลังงาน ดังนั้นโครงสร้างที่เป็นเหล็กปั๊มบางๆ มักจะแย่ที่สุด โครงพลาสติกหล่อ ก็จะดีขึ้นมาหน่อย ดีที่สุดก็โครงอลูมิเนียมหล่อ ซึ่งมักพบในลำโพงดอกใหญ่ คุณภาพสูง
จบดีกว่า รอคำถามบ้างครับ